HBO คือการบำบัดร่างกายด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้ความกดอากาศสูง เป็นทางเลือกในการรักษาแผลเบาหวาน ไมเกรน เพิ่มประสิทธิภาพเม็ดเลือดขาวให้กำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ฯลฯ
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการทำไฮเปอร์แบริก
ไฮเปอร์แบริค (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBO) คือการบำบัดร่างกายด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้ความกดอากาศสูง โดยจะเข้าไปอยู่ในอุโมงค์ปรับความกดอากาศที่มีโครงสร้างคล้ายหลอดแก้วขนาดใหญ่ทำจากพลาสติกอะคริลิกใส สามารถทนความกดอากาศได้สูงสุด 3 บรรยากาศ
การบำบัดด้วยอุโมงค์ไฮเปอร์แบริคทำให้ผู้รับบริการได้รับออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ซึ่งปกติแล้วในอากาศจะมีออกซิเจนอยู่แค่ 20% วิธีนี้จึงทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากกว่าปกติหลายเท่า
ผลของไฮเปอร์แบริค
ออกซิเจนเข้มข้นจะถูกส่งไปทั่วร่างกายผ่านทางกระแสเลือดระหว่างการบำบัดด้วยไฮเปอร์แบริค ส่งผลต่อร่างกายดังนี้
- ช่วยให้สมานแผลได้ดีขึ้น และป้องกันแผลลุกลาม ให้ผลดีกับการรักษาแผลในผู้ป่วยเบาหวาน แผลกดทับ และแผลที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดี
- ช่วยเสริมสร้างเส้นเลือดใหม่ กระตุ้นเซลล์ให้ผลิตสารจำพวกโปรตีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างคอลลาเจน และเซลล์ผิวใหม่ ทั้งอาจมีการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรนที่มักเกิดจากหลอดเลือดในสมองขยายตัว แม้หลักฐานผลการรักษายังไม่แน่ชัด
- ช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวให้สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น
HBO รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับรองว่า ไฮเปอร์แบริคสามารถรักษาโรคเหล่านี้ได้และปลอดภัย
- โรคจากการลดความกดอากาศ หรือโรคน้ำหนีบ (Decompression Illness: DCI)
- ภาวะฟองอากาศในหลอดเลือดดำ
- โรคโลหิตจางที่มาจากการเสียเลือดอย่างรุนแรง
- การติดเชื้อในสมอง และไซนัส
- ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ
- บาดแผลไฟไหม้จากความร้อน หรือเปลวไฟ
- การปลูกถ่ายผิวหนัง
- เนื้อเยื่ออ่อนอักเสบติดเชื้อระดับรุนแรง
- กระดูก หรือไขกระดูกอักเสบติดเชื้อ
- หลอดเลือดแดงบกพร่อง หรือมีการไหลของเลือดแดงต่ำ
- ภาวะเลือดไม่เลี้ยงบาดแผลเฉียบพลัน เช่น เป็นแผลกดทับ
- เนื้อเยื่อตายจากการติดเชื้อ
- บาดแผลจากการฉายรังสี เช่น แผลจากการรักษามะเร็ง
ประเภทของอุโมงค์ไฮเปอร์แบริค
ปัจจุบัน อุโมงค์ไฮเปอร์แบริค (Hyperbaric Chamber) ที่ใช้ในประเทศไทยมี 2 แบบ ได้แก่
- แบบใช้คนเดียว (Monoplace Chamber) เป็นหลอดแก้วแนวนอน ขนาดพอดีตัว 1 คน คล้ายเครื่อง MRI ทำด้วยพลาสติกอะคริลิกใส ไม่จำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะ และสามารถดูโทรทัศน์ ฟังเพลง หรือพูดคุยกับคนภายนอกไปด้วยได้
- แบบใช้ร่วมกันหลายคน (Multiplace Chamber) เป็นอุโมงค์ทึบ ขนาดสำหรับนั่งและนอนด้วยกันได้หลายคน ต้องใส่อุปกรณ์ครอบศีรษะที่ต่อท่อออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา สามารถสื่อสารกับนอกอุโมงค์ได้ด้วยวิทยุสื่อสาร
ขั้นตอนการบำบัดด้วยไฮเปอร์แบริค
- ซักประวัติ วัดความดัน
- แพทย์ตรวจร่างกาย และประเมินว่าสามารถใช้เครื่องได้หรือไม่ อาจให้ลงชื่อในเอกสารรับรองรับการรักษาก่อนรับบริการ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล และถอดเครื่องประดับออกทั้งหมด
- เข้าไปนั่ง หรือนอนในอุโมงค์ หากเป็นอุโมงค์สำหรับหลายคนจะได้รับหน้ากาก หรืออุปกรณ์สวมศีรษะที่ต่อกับท่อปล่อยออกซิเจน
- เจ้าหน้าที่จะปิดอุโมงค์ และปรับระดับออกซิเจน และความดันอากาศให้เหมาะกับการบำบัด
หมายเหตุ
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- ควรเลือกบำบัดในช่วงเวลาที่ร่างกายไม่มีไข้ หรือเป็นโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหูชั้นกลาง เพราะความดันอากาศที่สูงกว่าปกติจากเครื่องไฮเปอร์แบริคอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
รายละเอียด
รายละเอียดราคา ทำไฮเปอร์แบริก
ราคานี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
- ค่าคอร์สทำไฮเปอร์แบริก (HBOT) บำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด 10 ครั้ง
- ค่าแพทย์
- ค่าบริการโรงพยาบาล
เกี่ยวกับแพ็กเกจ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับแพ็กเกจ ทำไฮเปอร์แบริก
- ระยะเวลารับบริการครั้งละประมาณ 30-90 นาที
- ควรนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ
- ชาวต่างชาติสามารถเข้ารับบริการได้ในราคาเดียวกัน โดยใช้พาสปอร์ตเพื่อยืนยันตัวตน
การเตรียมตัวก่อนรับบริการ
- งดเว้นการเดินทางโดยเครื่องบินอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนรับบริการ
- หากเป็นหวัด มีอาการคัดจมูก หูอื้อ เป็นไข้ หรือโรคที่เกี่ยวกับหูชั้นกลาง ให้เลื่อนการทำไฮเปอร์แบริคออกไปก่อน เพราะความดันอากาศที่สูงกว่าปกติจากตัวเครื่องอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
การดูแลหลังรับบริการ
- งดเว้นการเดินทางโดยเครื่องบินอย่างน้อย 8 ชั่วโมงหลังรับบริการ
- หากรู้สึกหูอื้อ ให้จิบน้ำเพื่อบรรเทาอาการ
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ
ข้อห้ามสำหรับการทำไฮเปอร์แบริค
- ผู้ที่มีอาการกลัวที่แคบ
- ผู้ที่เป็นหวัด คัดจมูก หรือหูอื้อ ต้องรอให้อาการดังกล่าวหายดีก่อน
- ผู้ที่มีแผนจะเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือเพิ่งลงจากเครื่องบินภายใน 8 ชั่วโมง
- ผู้ที่เยื่อแก้วหูฉีกขาด หรือหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
- ผู้ที่มีประวัติภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับปอด
- ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหู
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาการเหนื่อยล้า ปวดหัวเล็กน้อย
- ภาวะสายตาสั้นชั่วคราว เกิดจากเลนส์ตาเกิดความเปลี่ยนแปลงขณะบำบัด
- หูชั้นกลางบาดเจ็บ มีของเหลวไหลออกมา หรือเยื่อแก้วหูฉีกขาดขณะเพิ่มความดันอากาศ
- ปอดแฟบ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ
- อาการชัก เนื่องจากได้รับออกซิเจนเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางมากเกินไป